วันมาฆบูชาตรงกับ วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 หรือ วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีชวด เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระภิกษุ ๑๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
มูลเหตุวันมาฆะบูชา
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และได้ทรงประกาศพระศาสนาและส่งพระอรหันตสาวกออกไปจาริกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ล่วงแล้วได้ 9 เดือน ในวันที่ใกล้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้ระลึกว่า วันนี้เป็น วันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาของตนอยู่เดิม ก่อนที่จะหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และในลัทธิศาสนาเดิมนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ เหล่าผู้ศรัทธาพราหมณลัทธินิยมนับถือกันว่าวันนี้เป็นวันศิวาราตรี โดยจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการลอยบาปหรือล้างบาปด้วยน้ำ แต่มาบัดนี้ตนได้เลิกลัทธิเดิมหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรเดินทางไปเข้าเฝ้าบูชาฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เหล่านั้นซึ่งเคยปฏิบัติศิวาราตรีอยู่เดิม จึงพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย
มีผู้กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาวกทั้ง 1,250 องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย มาจากในวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์ เป็นวันพิธีศิวาราตรี พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน
โอวาทปาฏิโมกข์
หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะการไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันมาฆบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน)
พระพุทธรูปยืนกลางมณฑลมหาสังฆสันนิบาต ในโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร อินเดีย (เป็นพระพุทธรูปสร้างใหม่ ปัจจุบันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก)เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชา เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของ “กลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร” ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาตอันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน